Saturday, July 28, 2007

ทำไมต้องสร้างเว็บไซต์ใหม่ ?

คำตอบ คือ มันล้าสมัย ล้าสมัยในที่นี้ ผมหมายถึง แนวทางของเนื้อหาที่นำเสนอ ความคิดนี้มาจากอิทธิพลของ Blog, และเว็บไซต์ ของคนอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเนื้อหาที่นำเสนอ ในเว็บไซต์ และเมื่อมองย้อนกลับมาดูเว็บไซต์ของตัวเอง ก็ทำให้เห็นชัดว่า สภาวะความเป็นนักเขียนของผมนั้น ค่อนข้างบ้านๆ ขาดจุดยืนที่น่าสนใจ ขาดแนวทาง และขาดการแสดงถึงระดับของวุฒิภาวะใน การรับรู้ การคิด และถ่ายทอด ความคิดเห็นของตัวเอง ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ผู้อ่านเข้าใจได้

จุดยืนในครั้งนี้ จึงได้เปลี่ยนแนวทางการนำเสนอ ของเว็บไซต์นี้ .. ไปเป็นการบรรยาย สิ่งที่ผมได้เห็น และแสดงความคิดเห็นของผม ในเรื่องต่างๆ ที่ผมสนใจ โดยเน้นการบรรยายแบบที่ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่าย และทำให้ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องเดียวกัน มีความรู้สึกอยากติดตามอ่านต่อไป

เบื้องหลังความคิด การสร้างเว็บไซต์ "สมุดบันทึกของนายโอม เล่มที่ 5 "

อิทธิพลหลักมาจาก Blog ที่ชื่อว่า Biolawcom.de โดยเนื้อหาที่ผมได้อ่านตอนหนึ่งกล่าวว่า

"...เอาเข้าจริง คนวงการไอทีในบ้านเรา ที่เข้าใจและสนับสนุน web 2.0 มีไม่น้อย แต่ก็เป็นคนกลุ่มน้อย สาเหตุก็เพราะว่า คนในวงการไอทีบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไอทีที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาล เป็นคน conservative อย่างบอกไม่ถูก (เป็นอะไรที่ paradox มาก ๆ)

ส่วนคนอีกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มบริโภคเนื้อหาหลัก ในโลกอินเตอร์เนตในบ้านเรา (ตอนนี้เรียกอินทราเนตน่าจะถูกกว่า) ก็คือกลุ่มวัยรุ่น จากการสังเกตุการณ์ การใช้งานอินเตอร์เนตของกลุ่มวัยรุ่นไทย ผมเชื่อเหลือเกินว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป web 2.0 คงเกิดยากในประเทศไทย เพราะเป้าหมายการใช้อินเตอร์เนตของคนกลุ่มนี้ไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นบันเทิง (pure entertainment without content) แม้ว่าเราจะสามารถนำความบันเทิงมาเป็นกระแสของ web 2.0 ได้ แต่ความบันเทิงที่ปราศจากเนื้อหา มันก็จะกลายเป็น web 2.0 ที่กลวง ๆ ไม่มีประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของ web 2.0 ในบ้านเราคือ คนผลิดเนื้อหา (ที่ปราศจากเนื้อหา) กับคนบริโภค เข้ากันได้เหมือนผีแห้งกับโรงผุ กล่าวคือ กลุ่มนึงก็จะบริโภคแต่ความบันเทิง อีกกลุ่มก็จะผลิตแต่ความบันเทิงเช่นกัน ดังนั้นผมจึงมองว่า สาเหตุในการผลิต และบริโภคเนื้อหา (ที่ปราศจากเนื้อหา) ของคนทั้งสองกลุ่มเหมือนกันคือ วัฒนธรรมการต่อต้านเนื้อหา (ที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ ) ในบ้านเรา ซึ่งผู้ผลิตเนื้อหา (ที่ปราศจากเนื้อหา) ก็ไม่ค่อยอยากผลิตเนื้อหา (ที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ ) เพราะมองว่าผลิตยาก และมีผู้บริโภคน้อย ส่วนผู้บริโภคก็ไม่อยากบริโภคเนื้อหา (ที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ ) เพราะกลัวเครียด
ปัญหาวัฒนธรรมการต่อต้านเนื้อหา (ที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ ) ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงแค่ในวงการอินเตอร์เนตเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในทุก ๆ วงการที่มีการไหลของข้อมูลข่าวสารในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นวงการโทรทัศน์ วงการหนังสือ วงการภาพยนต์ ดูเหมือนว่าเนื้อหา (ที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ ) ในบ้านเราจะเป็นสิ่งน่าขยะแขยง เพราะไม่อินเทรนท์ และทำให้เครียด ซึ่งผมมองว่าปัญหาทางวัฒนธรรมปัญหานี้เกิดจากสองสาเหตุ คือ การศึกษา และสื่อกระแสหลัก
การศึกษาทำให้คนมองทุกอย่างที่เป็นเนื้อหา (ที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ ) เป็นเรื่องเครียด ส่วนสื่อกระแสหลัก ก็พยายามยัดเยียดแต่ความบันเทิงให้ผู้บริโภค

ดังนั้นผมคิดว่า web 2.0 ในประเทศไทย เป็นอะไรที่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ได้ยากพอ ๆ กับประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทย เพราะสาเหตุของปัญหานั้นเหมือนกัน คือเรื่องของคนกับวัฒนธรรม และการแก้ก็คงเหมือน ๆ กัน คือแก้ที่คนและวัฒนธรรม แต่คำถามสำคัญอีกคำถามก็คือ web 2.0 มีความสำคัญมากเพียงใด อันนี้ต้องตอบกันเอาเอง"

(อ้างอิงจาก http://biolawcom.de/blog/633 , เขียนโดยผู้ที่ใช้นามว่า bow_der_kleine, อ่านเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550)

ข้อความที่เขาเขียนกล่าวถึง ผู้ผลิตสื่อ, ผู้บริโภค, และตัวสื่อ ทำให้ผมเกิดคิดถึงเว็บไซต์ดังๆ หลายๆ แห่งของเมืองไทย ที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก นำเสนอสื่อที่ให้เพียงแต่ความบันเทิง ถึงแม้ เว็บไซต์เหล่านั้นจะแอบแฝงสาระความรู้เอาไว้ แต่ผมคิดว่า ผู้บริโภคส่วนน้อยเท่านั้น ที่คิดจะเข้าไปในเว็บไซต์อย่างนั้น เพื่อเสพสาระความรู้ ที่มีน้อยนิด

หลายๆ ครั้ง ที่ผมพยายามค้นหาข้อมูล ในเรื่องที่ผมสนใจ -- เช่น การใช้งาน opensource ที่ชื่อว่า drupal เป็นภาษาไทย, หรือ การใช้งาน Moodle ร่วมกับ Joomla เป็นภาษาไทย -- ผมแทบจะไม่สามารถหาข้อมูลเหล่านั้น ได้ทางอินเตอร์เน็ตเลย และได้พบกับเนื้อหามากมาย ที่ห่างไกลจาก คำค้น ที่ผมใช้ ทำให้ผมสรุปอย่างง่ายดายได้ว่า เนื้อหา ที่มีสาระ ในเรื่องที่เราอยากรู้ มีน้อยมากเกินไป หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า คนไทยผู้ที่รู้เรื่องเหล่านั้น ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สู่สาธารณะฟรีๆ หรือ ไม่รู้วิธีการนำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ต

จากประโยคที่ผมได้อ่านจากเว็บไซต์หนึ่ง (จำไม่ได้ว่า เว็บไซต์ไหน ขอประธานอภัยมา ณ.ที่นี้) ที่เขียนบ่นๆ เอาไว้ว่า "..มีความคิดว่า ทำไมไม่มีข่าวนั้น ข่าวนี้ ในหนังสือ ..ก็เลย ทำเองดีกว่า.." เป็นสิ่งที่จุดประกายให้ผมคิดว่า ในเมื่อผมหาข้อมูลที่ผมสนใจเป็นภาษาไทยไม่ได้ ผมก็ต้องศึกษาเอง แล้วเขียนอธิบายเป็นภาษาไทยด้วยตัวเองเสียเลย โดยที่ผู้บริโภคจะได้อ่าน เนื้อหา ที่ผมตั้งใจว่าจะให้เป็นเนื้อหาจริงๆ ฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงเนื้อหาทั้งหมดแต่อย่างใด

เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว เว็บไซต์ "สมุดบันทึกของนายโอม เล่มที่ 5" ที่มีแนวทางการนำเสนอข้อมูลแบบใหม่ นี้ จึงได้เกิดขึ้น พร้อมทั้งอนุญาติให้ผู้อ่าน สามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ต่อประเด็นต่างๆ ที่ผมเขียนเอาไว้ได้ และเพื่อให้เนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกัน ผมก็จะเลือก ความคิดเห็น ที่ผมคิดว่า เป็นการจุดประเด็นสำคัญ มีประโยชน์ เก็บไว้ .. ทั้งนี้ ทำให้ อาจจะต้อง ตัด หรือ ลบ ความคิดเห็น บางส่วน ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้อ่านคนอื่นๆ ออกไป

ผมหวังว่า แนวความคิดในการเขียน Blog แบบใหม่ของผมนี้ จะเป็นแนวทางที่ดี ต่อพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านเว็บไซต์แห่งนี้ครับ